เทียบชัด! ระบบ RPA คืออะไร ต่างอย่างไรกับ AI ด้านการใช้งาน
หากจะกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วด้านภูมิทัศน์ของระบบอัตโนมัติ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิด “กระบวนการอัตโนมัติของหุ่นยนต์ (RPA) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ก็คงไม่เกินจริงไปนัก และหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าทั้งสองระบบที่ว่านี้คือสิ่งที่เหมือนกัน และสามารถใช้งานทดแทนกันได้ แต่จริง ๆ แล้วการทำงานของทั้งสองระบบมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วันนี้เราจะมาพาไปหาคำตอบกันว่า สรุปแล้ว RPA คืออะไร และเมื่อเทียบกับ AI แล้ว ระบบไหนน่าใช้งานกว่ากัน?
Robotic Process Automation หรือ RPA คืออะไร?
Robotic Process Automation หรือ RPA คือ ซอฟต์แวร์ที่ถูกนำมาใช้ในการจำลองพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อพัฒนาให้เป็นโซลูชันที่ช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงานแบบซ้ำ ๆ ให้แก่องค์กร อาทิ การใช้งานด้านเอกสารอย่างการกรอกข้อมูล การประมวลผล และการติดต่อสื่อสารเพื่อตอบคำถามลูกค้า เป็นต้น
ซึ่งข้อดีที่โดดเด่นของโปรแกรมที่ใช้ระบบ RPA ก็คือ การทำงานที่แม่นยำ มีความเสถียรสูง ทั้งยังสามารถช่วยทุ่นแรงและเวลา อีกทั้งยังสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ นอกจากนี้ ยังช่วยลดข้อผิดพลาดจาก Human Error รวมถึงช่วยลดภาระด้านต้นทุน และภาระงานหนักได้อย่างเหมาะสม ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงานที่จำเจได้อย่างก้าวกระโดด
สรุปประโยชน์ของระบบ RPA
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างแม่นยำ ให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นไปที่งานสำคัญอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับงานที่จำเจ
- ลดข้อผิดพลาดด้านการทำงานที่เกิด Human Error เนื่องจากระบบ RPA จะทำงานตามขั้นตอนที่ถูกระบุเอาไว้แบบซ้ำ ๆ ส่งผลให้ได้งานที่สมบูรณ์และแม่นยำในทุกขั้นตอน
- เพิ่มความปลอดภัยด้านการทำงานได้อย่างมั่นใจ ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยบล็อกความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์
- ลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่าย ทั้งด้านแรงงานและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องต่อการทำงาน
ความแตกต่างระหว่างระบบ RPA และการใช้ AI
ด้วยข้อดีของ RPA เหล่านี้ ทำให้หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นระบบเดียวกับ AI เพราะมีรูปแบบการทำงานที่ใกล้เคียงกัน แต่คงต้องบอกว่าจริง ๆ แม้ทั้งสองเทคโนโลยีจะมีความเหมือนกันในด้านการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ แต่ในลักษณะการนำไปใช้จริงนั้น กลับมีความแตกต่างกันอยู่ โดยเราจะมาเปรียบเทียบ พร้อมอธิบายในส่วนนี้ให้ได้รู้กัน
ความต่างด้าน “วัตถุประสงค์การใช้งาน”
ในด้านของวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน ทั้งระบบ RPA และระบบ AI จำเป็นจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะและกระบวนการทำงาน โดยระบบ RPA จะเหมาะกับการปฏิบัติงานแบบซ้ำ ๆ โดยจะทำการจำลองพฤติกรรมของมนุษย์ ภายใต้กฎเกณฑ์และขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อช่วยลดเวลาการทำงานให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน ระบบ AI จะเป็นเทคโนโลยีที่อาศัยการเรียนรู้จากมนุษย์ แต่จะขยายขอบเขตได้กว้างกว่า เพราะเป็นการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้อยู่เสมอ ผ่านระบบการประมวลผลแบบ Big Data เพื่อให้สามารถเข้าใจ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ จึงมักถูกนำไปใช้ประยุกต์ใช้กับงานที่มีระดับความยากมากขึ้น หรือต้องการความสมบูรณ์แบบ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น
ความต่างด้าน “ความสามารถในการทำงาน”
สำหรับด้านความสามารถในการทำงาน ระบบ RPA จะทำงานโดยการจำลองพฤติกรรมของมนุษย์ในแบบซ้ำ ๆ จึงทำให้ความสามารถถูกจำกัดในแบบเดิม ๆ
แต่สำหรับ AI ที่เรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้มีจุดเด่นที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะงานที่มีความซับซ้อนและต้องการความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล งานออกแบบ ตลอดจนงานทางธุรกรรม และเอกสารที่ต้องการความแม่นยำสูง ส่งผลให้เทคโนโลยี AI ถูกนำไปใช้ได้ในหลาย ๆ โปรแกรมควบคู่กับระบบ RPA
ความต่างด้าน “แนวคิดที่นำมาใช้พัฒนาระบบ”
สำหรับความแตกต่างด้านแนวคิด แบบจำลองด้านคณิตศาสตร์ ที่นำมาใช้กับการทำงานของระบบ RPA จะเป็นแบบ Deterministic ซึ่งเป็นระบบที่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ โดยจะขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สามารถควบคุมได้ จึงเหมาะกับการนำมาใช้ทำงานที่มีความตายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในส่วนของ AI จะเป็นแนวคิดแบบ Stochastic ซึ่งเป็นระบบที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ เพราะจะขึ้นอยู่กับตัวแปรสุ่ม (Random Variable) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า เช่น การหาค่าความเสี่ยงจากข้อมูลใหม่ ๆ หรือการดึงข้อมูลจากรูปถ่ายเอกสารที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้อย่างแม่นยำ
Use Case: Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ใช้ทั้ง RPA และ AI ร่วมกัน
เพื่อให้เห็นภาพการใช้งานที่เข้าใจได้ง่าย เราขอยกตัวอย่างการทำงานจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับ Global อย่าง Spotify มาอธิบายเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น
โดย Spotify เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผสมผสานความหลากหลายของเทคโนโลยีเอาไว้ เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาระบบที่พร้อมมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งาน จึงมีการนำทั้งระบบ RPA และ AI มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนแอปพลิเคชันให้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการใช้งานระบบ RPA ใน Spotify
Spotify ได้นำเทคโนโลยี RPA มาใช้ไปกับการทำงานซ้ำ ๆ เพื่อลดข้อผิดพลาดทางเอกสาร และการประสานงานระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้า พร้อมช่วยเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดเมื่อเกิดปัญหาที่ต้องการแก้ไขได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น
- การกรอกข้อมูลในระบบต่าง ๆ : RPA ถูกใช้เพื่อกรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลบัญชีธนาคาร ข้อมูลที่อยู่จัดส่ง ข้อมูลใบสั่งซื้อ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
- การประมวลผลเอกสารทางการเงิน : RPA ถูกใช้เพื่อประมวลผลเอกสารทางการเงิน เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ป้องกันความผิดพลาดที่อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล
- การประสานงานระหว่างแผนกต่าง ๆ : RPA ถูกใช้เพื่อประสานงานระหว่างแผนกต่าง ๆ เช่น การโอนข้อมูลระหว่างระบบ การติดตามสถานะในกระบวนการทำงาน ทำให้สามารถดำเนินเรื่องได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างแผนกได้เป็นอย่างดี
- การตอบคำถามลูกค้า : RPA ถูกใช้เพื่อตอบคำถามลูกค้าทั่วไป ทั้งยังสามารถตอบคำถามได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างตรงจุด จนนำไปสู่การสร้างฐาน Brand Loyalty ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ Spotify ยังใช้ RPA เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ โดยนำมาทดสอบกับผลิตภัณฑ์และบริการก่อนที่จะเปิดตัวสู่ตลาด โดยผลลัพธ์ที่ได้คือมีความแม่นยำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างตรงจุด โดยทาง Spotify ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ระบบ RPA ที่ถูกนำมาปรับใช้งาน คาดว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาไปแล้วกว่า 45,000 ชั่วโมงต่อปี และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ จากการที่สามารถบริหารทรัพยากรแรงงานได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
ตัวอย่างการใช้งานระบบ AI ใน Spotify
ในส่วนของ AI ใน Spotify ก็ถือได้ว่ามีบทบาทหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานกว่า 456 ล้านบัญชีทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น
- แนะนำเพลง : AI ของ Spotify สามารถช่วยแนะนำเพลงใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้ โดยพิจารณาจากเพลงที่เคยฟัง ศิลปินและอัลบั้มที่ชื่นชอบ โดย AI จะเรียนรู้และปรับปรุงคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำเสนอเพลงได้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน
- จัดเพลย์ลิสต์ : AI ของ Spotify สามารถช่วยจัดเพลย์ลิสต์ตามความสนใจของผู้ใช้ โดยพิจารณาจากปัจจัยเดียวกันกับการแนะนำเพลง ก่อนจะค้นหาและนำมาจัดเป็นเพลย์ลิสต์ที่หลากหลายและตรงใจผู้ใช้แต่ละคน
- วิเคราะห์ข้อมูล : AI ของ Spotify สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการฟังเพลง ข้อมูลการค้นหาเพลง ข้อมูลการแชร์เพลง ก่อนจะนำไปปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ตรงใจมากกว่าเดิม
แน่นอนว่า Spotify ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งระบบ RPA และ AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมบริการใหม่ ๆ AI ของ Spotify อย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผล Spotify กลายเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก
รองรับการทำงานที่หลากหลายมากกว่า เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของธุรกิจคุณ ด้วยโซลูชัน AI ดี ๆ มากมายจาก AIGEN ผู้ให้บริการและพัฒนาระบบ AI ที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการ และร่วมเป็นหนึ่งในเบื้องหลังสู่ความสำเร็จทางธุรกิจของคุณ พูดคุยเพื่อปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
- How and Why Spotify Built Its Citizen Developer Program with Help of UiPath & PwC. สิบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566. https://rpamaster.com/how-and-why-spotify-built-its-citizen-developer-program-with-help-of-uipath-pwc-2/
- DJ Spotify cria playlists especiais com uso de IA. สิบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566. https://www.showmetech.com.br/th/dj-spotify-สร้างเพลย์ลิสต์โดยใช้-AI/
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อัจฉริยะ พร้อมช่วยขับเคลื่อนการทำงานของธุรกิจ มีประสบการณ์ให้บริการโซลูชัน AI เพื่อองค์กรระดับประเทศมากมาย