Share

อย่าปล่อยให้ตัวเองหมดแรง จนหมดไฟ ! Burnout Syndrome ภัยร้ายจากการทำงานที่ควรระวัง

รู้หรือไม่ว่า ความเหนื่อยล้าจากการทำงานเป็นระยะเวลานานกับความเหนื่อยล้าจากภาวะหมดไฟนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะอาการหมดไฟ หรือ Burnout นั้นคือการสะสมของความเครียด ความเหนื่อยหน่าย ความอ่อนล้า ความรู้สึกที่ไม่เป็นที่ต้องการหรืออยากจะละทิ้งหน้าที่การงานเหลือเกิน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าตนนั้นไร้ประสิทธิภาพและไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานเอาเสียเลย

Burnout Syndrome ภัยร้ายจากการทำงานที่ควรระวัง

อาการ Burnout หรือความเหนื่อยหน่ายจากการทำงานเป็นภาวะของความอ่อนล้าทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกายที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่ยังไม่ได้รับการจัดการ  โดยในขณะที่เรายังคงมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา ทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลงและหมดไป จนเกิดเป็นอาการ Burnout Syndrome ได้ ซึ่งอาการนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดประเภท Burnout Syndrome ว่าเป็นภาวะทางอาชีพ มิใช่ภาวะทางการแพทย์ เนื่องจากอาการ Burnout เป็นโรคที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก คนทำงานจึงควรให้ความสำคัญกับการสำรวจความเครียดของตนเองให้ดี และไปพบแพทย์อย่างเหมาะสมตามอาการ เพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที 

5 stages of Burnout ขอบคุณรูปภาพจาก Calmer

ในบทความ The Future of Burnout หนึ่งในผู้เขียนอย่าง Dr. Maslach ได้แบ่งประเภทของอาการ Burnout ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. ความเหนื่อยหน่ายจากตัวเอง (Individual burnout) เป็นภาวะความเหนื่อยที่เกิดจากการกดดันตนเองด้วยมาตรฐานที่สูงเกินไป หรือกล่าวได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มีความเป็น Perfectionist เกินจนทำให้ตัวเองรู้สึกว่ายังทำได้ดีไม่พอ
  2. ความเหนื่อยหน่ายจากความสัมพันธ์ (Interpersonal burnout) เป็นภาวะความเหนื่อยที่เกิดจากการรับมือกับเพื่อนร่วมงาน ตัวอย่างเช่น การร่วมงานกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่มีนิสัยก้าวร้าว หรือไม่รับฟังนั้นสามารถสุมไฟความเครียดที่คุณมีอยู่แล้วให้โหมกระหน่ำเข้าไปอีก
  3. ความเหนื่อยหน่ายจากระบบองค์กร (Organizational burnout) การบริหารภายในองค์กรที่ย่ำแย่ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟ และท้อแท้จากการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายที่สูงเกินความสามารถขององค์กร ส่งผลให้งานไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นต้น

10 สัญญาณเตือน ! ว่าตัวคุณกำลังประสบกับภาวะหมดไฟ

หากคุณกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า

  • คุณเคยหงุดหงิดหรือใจร้อนกับเพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าหรือไม่ ?
  • คุณคิดงานไม่ออกบ่อย ๆ หรือไม่ ? 
  • คุณไม่มีสมาธิกับการทำงานเลยใช่หรือไม่ ?
  • คุณไม่พอใจกับความสำเร็จในการทำงานของตนเองเลยใช่หรือไม่ ?
  • คุณรู้สึกท้อแท้เกี่ยวกับงานของคุณหรือไม่ ?
  • คุณรู้สึกเครียดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีแรงจูงใจไปทำงาน และรู้สึกไร้ค่าหรือเป็นตัวถ่วงของทีมหรือไม่ ?
  • คุณต้องพึ่งอาหาร ยา หรือแอลกอฮอล์เพื่อให้รู้สึกดีขึ้นหรือไม่ ?
  • นิสัยการนอนของคุณเปลี่ยนแปลงไป หรือนอนไม่หลับหรือไม่ ?
  • บ่อยครั้งที่คุณปวดหัว หรือมีปัญหากับระบบกระเพาะอาหารหรือลำไส้โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเนื่องมาจากความเครียดหรือไม่ ?
  • คุณกลายเป็นคนชอบเหยียดหยามหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในที่ทำงานหรือไม่ ?

และหากคำตอบส่วนใหญ่ของคุณคือ ใช่  นั่นอาจหมายความได้ว่าคุณกำลังพบเจอกับอาการ Burnout อยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ เราแนะนำให้คุณพบแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต เพราะอาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

รู้ทันท่วงที และจัดการกับอาการ Burnout ให้ทันเวลา

คุณสามารถป้องกันและรับมือกับอาการ Burnout ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

สร้างสภาวะการทำงานที่ยืดหยุ่น : ลองบอกเล่า หรือหารือเกี่ยวกับข้อกังวลใจกับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ เพื่อคิดหา Best solution หรือวิธีการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพอย่างประนีประนอม พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างสันติ หรือกำหนดเป้าหมายการทำงานที่มีความยืดหยุ่น อะไรที่รอได้ก็อย่าไปเร่งมัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการกดดันตัวเองหรือกดดันทีมเสียเปล่า 

เล่าปัญหาและขอความช่วยเหลือ : หากคุณรู้สึกว่าปัญหาที่กำลังพบเจออยู่นั้นใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขด้วยตนเอง การแชร์ปัญหาที่คุณพบเจอให้กับเพื่อนร่วมงาน คนที่คุณไว้ใจ รวมถึงคนรักเพื่อขอความช่วยเหลือ จะทำให้คุณได้รับแรงสนับสนุนและสามารถรับมือกับปัญหานั้น ๆ ได้ นอกจากนี้ การเลือกอยู่ในองค์กรที่มีระบบ HR ที่ดี มีการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของพนักงานอยู่เสมอ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่คุณต้องพบเจอในที่ทำงาน 

พาตนไปอยู่กับคนที่มีความคิดในแง่บวก : เมื่อคุณจมอยู่กับความคิดเชิงลบที่กำลังกดขี่ความรู้สึกของคุณว่าคุณนั้นช่างไร้ค่า หรือไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย จงพาตนเองไปอยู่กับคนที่จะช่วยให้ดึงคุณออกจากสภาวะนั้น ๆ และพร้อมที่ Cheer up คุณเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ เพื่อนสนิท คนรัก รวมถึงครอบครัวของคุณ ลองหาเวลาว่างออกไปสังสรรค์กับคนอื่น ๆ เพื่อพาตัวเองออกจากวัฏจักรพลังแง่ลบนี้

พักผ่อนให้เพียงพอ : การนอนเป็นทางออกที่ดีเสมอ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้าทางกายได้แล้ว สุขภาพจิตของคุณจะดียิ่งขึ้นหากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ลองสร้างบรรยากาศการนอนที่ดี เช่น การจุดเทียนหอม การเปิดเพลงคลอเบา ๆ จะช่วยให้คุณนอนหลับง่ายยิ่งขึ้น ลองทำดูนะ ! 

หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย : ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ การฝึกจิตและสมาธิ รวมถึงไทชิ เป็นกิจกรรมคลายความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้เป็นอย่างดี 

ออกกำลังกาย : นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณขจัดเรื่องงานออกจากสมอง และจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น 

อาการ Burnout Syndrome ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อจิตใจของคุณเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาพร่างกายของคุณได้อีกด้วย ดังนั้น หากรู้ทันและป้องกันได้ทันท่วงเวลา ก็จะสามารถช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ AI GEN หวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถสำรวจ จัดการ และป้องกันตนเองจากภาวะหมดไฟได้นะ !

.

ยืนหนึ่งเรื่องสวัสดิการและการดูแลพนักงานด้วยระบบ HR ที่ยอดเยี่ยม !

AI GEN บริษัท Start up ด้านเทคโนโลยี AI และ Machine learning ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ไฟแรง สามารถทำงานแบบ Hybrid และมีวัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่โดยเฉพาะ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเรา AI GEN 😀 เรากำลังเปิดรับตำแหน่งสายงานทาง Tech ที่น่าสนใจหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น Data scientist, Data engineer, Machine learning engineer และตำแหน่งอื่น ๆ สามารถดูตำแหน่งงานที่กำลังเปิดรับสมัครได้ที่ 👉 Link

แหล่งที่มา

https://blog.rescuetime.com/burnout-syndrome-recovery/
https://www.bangkokhospital.com/en/content/burnout-syndrome
https://www.thisiscalmer.com/blog/5-stages-of-burnout
https://hbr.org/2016/11/beating-burnout
AIGEN Live chat