Share

AI คืออะไร เข้าใจการทำงาน ประโยชน์ กับ 3 ระบบ AI สำหรับธุรกิจ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้ติดตามเรื่องราวในแวดวงเทคโนโลยี ธุรกิจ และดิจิทัลต้องเคยได้ยินคนพูดถึงเรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในมุมที่ AI จะเข้ามาช่วยเหลือให้การใช้ชีวิต และการทำงานให้สะดวกสบาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงในมุมการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน หลาย ๆ คนก็เป็นกังวลว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์หรือเปล่าด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่า เราจะได้ยินคำว่า AI อยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับบางคนแล้วยังอาจไม่เข้าใจว่า AI คือโปรแกรมอะไร และมีความสำคัญอย่างไร และทำไมถึงสามารถช่วยให้การทำงานของเราสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แท้จริงแล้ว AI คือเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวเรานี่เอง และเราอาจจะได้ใช้งานระบบ AI ในชีวิตประจำวันกันอยู่บ่อย ๆ อาทิเช่น ระบบนำทาง ระบบแนะนำภาพยนตร์หรือสินค้า รวมถึงระบบสั่งงานด้วยเสียง เป็นต้น

aiScript โซลูชัน AI ประมวลผลเอกสารและข้อมูลรูปแบบใหม่ เสริมประสิทธิภาพระบบ OCR ด้วย AI อัจฉริยะ

ในบทความนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี AI กันมากยิ่งขึ้น พร้อมไปรู้ถึงประโยชน์ของ AI และขีดความสามารถที่ AI จะช่วยพัฒนาธุรกิจของคุณให้ดียิ่งขึ้น

AI คืออะไร ?

ภาพประกอบ : Canva

AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการเลียนแบบกระบวนการคิดและการเรียนรู้ของมนุษย์ โดย AI มีความสามารถหลากหลาย เช่น

  • วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก
  • เรียนรู้และปรับปรุงตัวเองจากประสบการณ์
  • ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนด
  • ทำงานอัตโนมัติและโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

นอกจากนี้ ได้มีคนให้คำนิยาม AI หรือ Artificial Intelligence ไว้กันอย่างหลากหลาย

Deloitte ได้รวบรวมความหมายของ AI ไว้ว่า “AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือ ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถแสดงพฤติกรรมที่โดยปกติแล้วต้องการความสามารถในการคิด และรับรู้ของมนุษย์” หรือ

“AI คือศาสตร์ของการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เหมือนกับมนุษย์”

และเจ้าพ่อผู้ค้นพบวงการ AI -Alan Turing ได้ให้คำนิยามของปัญญาประดิษฐ์ไว้ว่า

“ปัญญาประดิษฐ์ คือศาสตร์แห่งวิศวกรรมในการสร้างคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ โดยเฉพาะการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถวางแผน หาเหตุผล เรียนรู้ รับรู้ และสร้างมุมมองความรู้ และสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี AI ไว้ว่า เทคโนโลยี AI หรือ Artificial Intelligence คือ “เทคโนโลยีการสร้างความสามารถให้แก่เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ ด้วยอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ทรงปัญญา ที่สามารถเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้เช่น จดจำ แยกแยะ ให้เหตุผล ตัดสินใจ คาดการณ์ สื่อสารกับมนุษย์ ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง”

กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ อีกที เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์คือการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์นั่นเอง

หลักการทำงานของ AI

กระบวนการทำงานของระบบ AI ประกอบด้วยขั้นตอนหลักที่สำคัญและเชื่อมโยงกัน เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้จากข้อมูล การประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ ไปจนถึงการคาดการณ์หรือตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องที่มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนี้

1. การเรียนรู้ข้อมูล (Data Learning)

AI เรียนรู้จากข้อมูลผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Machine Learning โดยระบบจะวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นหารูปแบบและความสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ กระบวนการนี้แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ เช่น 

  • การเรียนรู้แบบมีผู้สอน (Supervised Learning): ระบบเรียนรู้จากข้อมูลที่มีคำตอบถูกต้องกำกับไว้
  • การเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอน (Unsupervised Learning): ระบบค้นหารูปแบบจากข้อมูลด้วยตนเอง
  • การเรียนรู้แบบเสริมกำลัง (Reinforcement Learning): ระบบเรียนรู้จากผลลัพธ์ของการกระทำ

2. การประมวลผล (Processing)

เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ ระบบ AI จะประมวลผลผ่านโมเดลที่ได้จากการเรียนรู้ โดยใช้อัลกอริทึมที่ซับซ้อน โดยกระบวนการนี้จะประกอบด้วย

  • การจำแนกข้อมูล (Classification)
  • การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Pattern Recognition)
  • การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing)
  • การประมวลผลภาพ (Computer Vision)

3. การคาดการณ์ (Prediction)

AI ใช้ข้อมูลที่เรียนรู้และประมวลผลมาสร้างการคาดการณ์หรือการตัดสินใจ ด้วยวิธีเหล่านี้

  • วิเคราะห์แนวโน้มจากข้อมูลในอดีต
  • ระบุความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในข้อมูล
  • สร้างโมเดลการพยากรณ์
  • ปรับปรุงความแม่นยำอย่างต่อเนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้

4. การปรับปรุงและพัฒนา

ระบบ AI มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการเหล่านี้

  • การวิเคราะห์ผลลัพธ์และข้อผิดพลาด
  • การปรับปรุงโมเดลจากข้อมูลใหม่
  • การพัฒนาความแม่นยำในการคาดการณ์
  • การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ประโยชน์ของ AI ในชีวิตประจำวัน

ด้านการเงิน

ในภาคการเงิน AI คือเครื่องมือที่เข้ามาปฏิวัติการให้บริการและการจัดการความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ อาจอยู่ในรูปแบบระบบตรวจจับการทุจริตที่ใช้อัลกอริทึมที่ซับซ้อนในการวิเคราะห์รูปแบบการทำธุรกรรม สามารถระบุความผิดปกติและป้องกันการฉ้อโกงได้แบบเรียลไทม์ แอปพลิเคชันวางแผนการเงินส่วนบุคคลใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่าย พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล ส่วนในด้านสินเชื่อ อาจใช้ AI พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลจากหลากหลายมิติมาวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของผู้กู้ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ส่วนระบบแนะนำการลงทุนใช้อาจ AI วิเคราะห์ตลาดและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อนำเสนอกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนแต่ละราย

ด้านสุขภาพ

ระบบ AI ได้สร้างความก้าวหน้าอย่างมากในวงการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบวินิจฉัยโรคเบื้องต้นโดยใช้ AI ประมวลผลข้อมูลอาการ ประวัติการรักษา และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ MRI หรือ CT scan โดยมีการใช้ AI มาช่วยตรวจจับความผิดปกติที่อาจมองข้ามด้วยตาเปล่า เพื่อทำให้การวินิจฉัยรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามสุขภาพส่วนบุคคลผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถแจ้งเตือนความผิดปกติและให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้ ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนายาและการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ยังสามารถใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านพันธุกรรมและการตอบสนองต่อการรักษา เพื่อออกแบบแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้านการศึกษา

AI ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม โดยแพลตฟอร์มเรียนรู้รูปแบบใหม่อาจใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้และระดับความเข้าใจของผู้เรียน เพื่อปรับเนื้อหาและวิธีการสอนให้เหมาะสมในแต่ละคน ระบบจะประเมินผลอัตโนมัติ เพื่อช่วยคุณครูตรวจการบ้าน ข้อสอบ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรมสอนภาษาอัจฉริยะที่ใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์การออกเสียง ไวยากรณ์ และการใช้ภาษา พร้อมให้คำแนะนำในการปรับปรุง อีกทั้งยังสามารถช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ จึงทำให้สถาบันการศึกษาเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเรียน และสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านอุตสาหกรรม

AI ได้ปฏิวัติภาคการผลิตและอุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน ทั้งระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติ โดยใช้ AI ในการควบคุมเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดจากมนุษย์ การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ที่ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์การชำรุดของเครื่องจักรก่อนที่จะเกิดปัญหาจริง รวมถึงช่วยลดการหยุดชะงักของการผลิตและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และการจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลการขนส่ง สินค้าคงคลัง และความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร นอกจากนี้ การวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ใช้ AI ในการตรวจสอบคุณภาพ ยังสามารถแสดงผลได้แบบเรียลไทม์ จึงช่วยระบุข้อบกพร่องและนำไปปรับปรุงคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ในทันที 

ประเภทของเทคโนโลยี AI และตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ

จากข้อมูลการศึกษาของ Harvard Business Review หากมองเทคโนโลยี AI ในมุมของการนำ AI มาเพิ่มช่วยขีดความสามารถของธุรกิจ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ สามารถช่วยตอบโจทย์ธุรกิจได้ใน 3 ประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้ ทำให้กระบวนการในทำงานบางอย่างเป็นรูปแบบอัตโนมัติ ได้ข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและพนักงานภายในองค์กร และหากจะแบ่งประเภทของ AI ที่ประยุกต์ใช้กับธุรกิจ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. Process automation 

ภาพประกอบ Canva

เป็นประเภทของ AI ที่สามารถพบเจอได้มากที่สุดในการนำ AI ไปใช้ในภาคธุรกิจ โดยการนำระบบ automation มาใช้ในการทำงานทั้งในรูปแบบที่เป็นแบบดิจิทัล และเอกสารจับต้องได้ กับงานที่เป็น Back-office และกิจกรรมทางการเงิน ผ่านทางระบบ Intelligent Document Processing หรือการประมวลผลเอกสารอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) และ Robotic Process Automation หรือ RPA เป็นการใช้โปรแกรม AI ที่ทำงานเหมือนมนุษย์ในการป้อนข้อมูล และสามารถอ่านข้อมูลจากหลายๆระบบ และสามารถส่งข้อมูลกลับไปยังระบบขององค์กรได้ผ่านการเชื่อมต่อ API ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน และลดข้อผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลได้เป็นอย่างมาก 

ตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ : 

  • การโอนย้ายข้อมูลจากอีเมล และระบบ Call center ไปยังระบบที่ใช้บันทึกข้อมูลลูกค้า เช่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของลูกค้า หรือเปลี่ยนแปลงการใช้บริการ เป็นต้น
  • การออกบัตร ATM ใหม่ เพื่อทดแทนบัตรที่หายไป  ต้องมีการเข้าถึงหลายระบบ เพื่ออัปเดตข้อมูล และจัดการเรื่องการสื่อสารกับลูกค้า
  • อ่านเอกสารทางกฎหมาย และสัญญา และดึงข้อมูลออกมา โดยใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ(Natural Language Processing)
  • อ่านข้อมูลเอกสารประเภทต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน ใบเสร็จรับเงินและใบแจ้งหนี้ ใบเคลมประกัน Book bank และดึงข้อมูลออกมาได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง ด้วยเทคโนโลยี OCR ที่มี AI เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

2.Cognitive Insight

การใช้ Algorithms ในการหารูปแบบจากข้อมูลจำนวนมาก และสามารถแปลความหมายจากข้อมูลเหล่านั้นได้ ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ”

ภาพประกอบ : Canva

ตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ : 

  • คาดการณ์สินค้าที่ลูกค้าแต่ละคนจะซื้อได้
  • ระบุการทุจริตในการขอวงเงินบัตรเครดิต รวมถึงการทุจริตในการเคลมประกัน
  • วิเคราะห์ข้อมูลการรับประกันเพื่อที่จะระบุถึงความปลอดภัย และปัญหาเรื่องคุณภาพในธุรกิจรถยนต์ และสินค้าอื่นๆ
  • แสดงโฆษณาตามความสนใจของลูกค้าแต่ละบุคคลคนโดยแบบอัตโนมัติ
  • ให้บริษัทประกันสามารถทำโมเดลคณิตศาสตร์ประกันภัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

3.Cognitive Engagement

ประยุกต์ใช้กับโปรเจกต์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือพนักงานในองค์กร โดยใช้แชตบอต หรือผู้ช่วยอัจฉริยะ

ภาพประกอบ : Canva

ตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ : 

  • Call center อัจฉริยะ ที่สามารถให้บริการได้ 24 ชั่วโมง สามารถให้บริการได้ทั้งคำถามทั่วไป และคำถามเฉพาะเจาะจงในหลากหลายภาษา
  • เว็บไซต์ภายในบริษัทที่ตอบคำถามพนักงานในหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่ IT, ผลประโยชน์พนักงาน และนโยบายด้านการบุคคล
  • การแนะนำสินค้า และบริการให้กับลูกค้าแบบรายบุคคลสำหรับธุรกิจค้าปลีก เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และเพื่อเพิ่มยอดขาย 
  • ระบบแนะนำการรักษารายบุคคลที่ช่วยแนะนำการรักษาโดยเฉพาะบุคคลนั้น ๆ โดยดูจากข้อมูลประวัติการรักษา และประวัติของคนไข้

ประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับธุรกิจ

เทคโนโลยี AI มีประโยชน์กับธุรกิจในหลากหลายด้าน ขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละธุรกิจว่าต้องการนำระบบ AI ไปช่วยพัฒนาธุรกิจในด้านใด อ้างอิงข้อมูลจาก Accenture ได้สรุปเกี่ยวประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ไว้ดังต่อไปนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (End-to-End) : ระบบ AI ช่วยลดความขัดแย้ง และพัฒนาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นเทคโนโลยี AI ยังช่วยให้กระบวนการทำงานเดิมที่มีความซับซ้อนสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ และช่วยลดเวลาที่เครื่องจักรไม่ทำงานด้วยการคาดการณ์ความต้องการในการซ่อมแซมเครื่องจักรได้แบบล่วงหน้า
  • เพิ่มระดับความแม่นยำ และยกระดับการตัดสินใจ : เทคโนโลยี AI ช่วยทำให้มนุษย์ฉลาดมากยิ่งขึ้นด้วยข้อมูลการวิเคราะห์ที่สมบูรณ์ และความสามารถในการคาดการณ์รูปแบบแพตเทิร์นต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ที่ทำให้การตัดสินใจของพนักงานมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น
  • โดดเด่นในเรื่องความอัจฉริยะ : เพราะคอมพิวเตอร์คิดแตกต่างจากมนุษย์ คอมพิวเตอร์สามารถเติมเต็มช่องว่าง และโอกาสที่มีอยู่ในตลาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้า และบริการ รวมถึงช่องทางการขายใหม่ ๆ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ที่แต่เดิมไม่สามารถทำได้
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน : AI ช่วยเข้ามาจัดการงานที่ต้องทำในรูปแบบเดิม ๆ และต้องทำแบบซ้ำ ๆ ได้ ทำให้พนักงานมีเวลาโฟกัสกับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานของพนักงาน และสนับสนุนให้พนักงานมีบทบาทในการทำให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น AI ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ช่วยค้นพบศักยภาพอันน่าทึ่งที่มีอยู่ในตัวของพนักงานที่ไม่ได้มีร่างกายสมบูรณ์ 100% ในขณะเดียวกัน AI ช่วยทำให้พนักงานทุกคนทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
  • ส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้า :  ด้วยเทคโนโลยี Machine learning ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ได้ข้อมูล Insight ของลูกค้าแบบครบลูป 360 องศา ส่งผลทำให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้า และบริการแบบ Hyper personalizationได้ เริ่มตั้งแต่แชตบอตที่ให้บริการได้อย่างรวดเร็วแบบ 24 ชั่วโมง ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยี AI ในการให้ข้อมูลลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ และส่งมอบประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจเติบโต และรักษาฐานลูกค้าให้มาใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าในภาพรวมได้อีกด้วย

การปรับตัวในยุค AI

ในยุคที่ AI กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานและการใช้ชีวิต การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพื่อไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่ยังสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล

การพัฒนาทักษะดิจิทัล

การพัฒนาทักษะดิจิทัลไม่ใช่แค่การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย อีกทั้งยังรวมถึงทักษะพื้นฐานอย่างการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อสำนักงาน การจัดการข้อมูล การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเข้าใจในการทำงานของระบบ AI เบื้องต้น นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เครื่องมือดิจิทัลในการแก้ปัญหา และการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยี AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การเรียนรู้จึงต้องเป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด (Lifelong Learning) ทั้งการติดตามแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ ๆ การทดลองใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น และการพัฒนาความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับงานของตน ซึ่งการเรียนรู้สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเรียนออนไลน์ การเข้าร่วมสัมมนา การแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมงาน และการทดลองใช้งานจริง โดยเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงและตอบโจทย์ความต้องการในการทำงาน

การผสมผสานความสามารถของมนุษย์และ AI

ความสำเร็จในยุค AI ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันกับ AI แต่อยู่ที่การผสมผสานจุดแข็งของทั้งมนุษย์และ AI เข้าด้วยกัน เพราะมนุษย์มีความสามารถพิเศษในด้านความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจเชิงจริยธรรม การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในขณะที่ AI เก่งในด้านการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก การทำงานซ้ำ ๆ และการวิเคราะห์รูปแบบที่ซับซ้อน การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจว่าเมื่อไรควรพึ่งพา AI หรือเมื่อไรควรใช้ความสามารถของมนุษย์ จะเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานยุคใหม่

การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการทำงาน รูปแบบธุรกิจ และวิถีชีวิตโดยรวม การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจึงต้องครอบคลุมหลายมิติ เช่น

  • ด้านทักษะและความรู้: ควรพัฒนาทักษะที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ง่าย เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
  • ด้านการทำงาน: ควรเตรียมพร้อมสำหรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานระยะไกล การทำงานร่วมกับ AI
  • ด้านอาชีพ: ควรวางแผนเส้นทางอาชีพที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนตามความต้องการของตลาดแรงงาน
  • ด้านจิตใจ: ควรพัฒนาทัศนคติที่เปิดกว้าง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

การเตรียมพร้อมที่ดีจะช่วยให้เราไม่เพียงแค่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ยังสามารถมองเห็นโอกาสและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการพัฒนาตนเองและอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งท้ายบทความ…

เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกิจ การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาปรับใช้กับชีวิตทำให้เราได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา และทรัพยากรอีกด้วย ในขณะเดียวกันการนำระบบ AI มาใช้ในการทำธุรกิจเป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเลือกเครื่องมือ AI ที่ตอบโจทย์ธุรกิจของคุณจะช่วยพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของคุณในระยะยาวได้อีกด้วย

>> หากคุณกำลังมองหาโซลูชัน AI ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ AI GEN ยินดีให้คำปรึกษาตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น จนถึงการเลือกใช้โซลูชัน AI ไปใช้งานที่ตอบโจทย์ธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่นี้เลยค่ะ

AIGEN Live chat