AI พลิกโฉมการบริการของหน่วยงานภาครัฐ: ช่วยยกระดับชีวิตคนไทยอย่างไร?
ในยุคที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องปรับตัว และก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเทคโนโลยี AI เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และช่วยทำให้คนยุคใหม่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายกันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐเองที่ต่างก็มุ่งในการนำ AI เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการให้บริการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
โดย AI เองนั้นเปรียบเสมือนกับสมองกลอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดภายใต้ข้อมูลที่มนุษย์ได้ป้อนเข้าไปให้ AI เรียนรู้ จึงทำให้มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภาครัฐกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการให้บริการ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีมากยิ่งขึ้น
การนำ AI มาใช้กับหน่วยงานภาครัฐ
AI สำหรับหน่วยงานภาครัฐนั้นเป็นการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน ความโปร่งใส และความสะดวกรวดเร็วให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการ และให้บริการประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศพัฒนา และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
โดยหากหน่วยงานภาครัฐมีการนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วนั้น จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศได้ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ลดความซ้ำซ้อนในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างการนำ AI มาใช้งานกับหน่วยงานภาครัฐ
หน่วยงานภาครัฐสามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. การให้บริการประชาชน
- ระบบวิเคราะห์ และตรวจจับใบหน้า
การนำ AI ตรวจจับใบหน้ามาใช้เพื่อตรวจสอบเอกสารประจำตัว และค้นหาบุคคลที่ต้องหมายจับนั้นถือเป็นตัวอย่างการใช้งานที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นทั้งประเทศไทย และญี่ปุ่นเองนั้นได้นำระบบจดจำใบหน้ามาใช้เพื่อยืนยันตัวตนของนักท่องเที่ยวขาออกนอกประเทศ โดย AI จะทำการเปรียบเทียบข้อมูลว่าตรงกันกับข้อมูลใบหน้าที่ได้เก็บไว้ในไมโครชิพของหนังสือเดินทางของบุคคลนั้นหรือไม่ และประตู Autogate จะเปิดเมื่อการระบุตัวตนเสร็จสิ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรได้เป็นอย่างมาก
รวมไปถึงในประเทศจีนได้มีการนำระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้ในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยที่กล้องวงจรปิดจะสามารถตอบสนองต่อสัญญาณเตือนจากกล้องเฝ้าระวังในสถานีรถไฟ ซึ่งมีการใส่ข้อมูลของผู้มีประวัติอาชญากรรม และผู้เจ็บป่วยทางจิตเภท ผู้เคยใช้ยาเสพติด รวมไปถึงการนำระบบตรวจจับใบหน้ามาใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ เช่น เบี้ยคนชรา เช่นกัน
- ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ (e-KYC)
ก่อนที่จะรับสิทธิ์ต่างๆ จากภาครัฐนั้น แน่นอนว่าจะต้องมีให้ประชาชนนั้นทำการยืนยันตัวตนเพื่อที่จะรับสิทธิ์ต่างๆ ก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนที่ได้รับสิทธิ์นั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐได้กำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องให้ประชาชนเดินทางเพื่อไปยืนยันตัวตนที่สำนักงานของหน่วยงานภาครัฐนั้นย่อมไม่สะดวก และจำนวนเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับกับจำนวนประชาชนได้
จึงเป็นที่มาที่ทำให้การนำระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ (e-KYC) เข้ามาใช้เพื่อให้ประชาชนยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ต่างๆ จากทางหน่วยงานภาครัฐเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนได้ด้วยตนเองผ่านทางสมาร์ตโฟน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ได้สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้ด้วยเช่นกัน
- AI Chatbot
AI Chatbot ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมนำมาใช้ในการให้บริการลูกค้าของธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้น สำหรับหน่วยงานภาครัฐเองที่ต้องให้ข้อมูล และบริการให้กับประชาชนในด้านต่างๆ ก็สามารถนำ AI Chatbot เข้ามาใช้งานได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีเวลาโฟกัสกับงานเชิงกลยุทธ์ได้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนา AI Chatbot ที่ชื่อว่า น้องดินดี ผู้ช่วยอัจฉริยะในการตอบคำถามข้อมูลด้านการพัฒนาที่ดิน ด้วยระบบโต้ตอบอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน Line ให้เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการพัฒนาที่ดินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินทำการเกษตร นอกจากนั้นยังสามารถสอบถามข้อมูลการให้บริการต่างๆ สื่อความรู้ บทความวิชาการ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานต่างๆของกรมพัฒนาที่ดินได้ เป็นต้น
2. การพัฒนาเมือง
- ระบบวิเคราะห์การจราจร
AI สามารถนำมาใช้ในการควบคุมสัญญาณไฟ ลดปัญหาการจราจรติดขัด และยังช่วยจับผู้ทำผิดกฎจราจรได้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ขับขี่รถบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเองนั้นในกรุงเทพมหานครได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า BMA AI Camera เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดที่เชื่อมต่อกับระบบ AI อัจฉริยะในการจับผู้ขับขี่บนทางเท้า รวมถึงผู้กระทำผิดกฎจราจร เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด เป็นต้น เพื่อดูแลตั้งแต่การจับคนขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าไปจนถึงการปรับปรุงการจราจรให้ดีขึ้น เนื่องจากมีอุบัติเหตุผู้เดินทางเท้าถูกรถมอเตอร์ไซต์ชนกว่า 900 คนในทุก ๆ ปี ดังนั้น กทม.จำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้มีการทดลองใช้งาน AI กับบริเวณทางแยกบางแห่งในกรุงเทพมหานคร และมีแผนที่จะขยายการใช้งานทั่วทั้งกรุงเทพในเร็ว ๆ นี้
- ความยืดหยุ่น และการปรับตัวต่อสภาพอากาศ
หน่วยงานภาครัฐสามารถนำ AI มาใช้ได้ตั้งแต่การออกแบบเมืองได้ภายในไม่กี่นาที และสามารถนำผลที่ได้ไปใช้ในการประกอบการพัฒนาเมืองต่อได้ รวมถึงยังต่อยอดไปถึงการนำ AI มาช่วยเหลือเมืองต่างๆ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อได้ โดยที่สร้างแบบจำลองขึ้นเพื่อคาดการณ์ และประเมินความเสี่ยง รวมไปถึงการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่สามารถช่วยได้ทั้งการบรรเทาผลกระทบจากคลื่นความร้อนจัด และจัดเก็บข้อมูลปริมาณคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากในยุค Climate change จากภาวะโลกรวน และส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
3. การวิเคราะห์ข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อระบุรูปแบบ และแนวโน้ม
AI สามารถช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหาแพตเทิร์นของข้อมูล และคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และตรงจุดได้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอังกฤษได้นำ AI มาใช้ในตรวจจับข่าวปลอม หรือ Fake news โดยได้เปิดตัวเทคโนโลยี AI ที่สามารถตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสามารถจัดการกับข่าวปลอม หรือข่าวลวงได้อย่างรอบด้านมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยใช้ทีมนักข่าว และนักวิเคราะห์ที่เป็นมนุษย์เพื่อประเมิน และให้คะแนนความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ข่าว ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วจะทำการติดแท็กเป็นสีเขียว หรือสีแดงไว้ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถรู้ว่าข่าวใดเป็นข่าวจริง หรือข่าวปลอมได้โดยทันที
- การค้นหาข้อมูลภายในหน่วยงาน (ระบบสารบรรณ)
AI จะเข้ามาช่วยหน่วยงานภาครัฐในการจัดการ และค้นหาข้อมูลภายในหน่วยงานได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอัตโนมัติได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนการจัดเก็บเอกสารให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการค้นหาต่อได้ ตอบโจทย์กับขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีเอกสารที่ต้องจัดการเป็นจำนวนมากได้เป็นอย่างดี
โดยที่ ระบบ AI-Knowledge management ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีระบบจัดการเอกสาร หรือระบบสารบรรณเพื่อใช้งานในการจัดเก็บ และค้นหาข้อมูลภายในหน่วยงาน ประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลจากเอกสารได้เป็นอย่างดี รวมถึงรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ และทุกเวลา
อีกทั้งยังสามารถนำระบบ AI-Knowledgement ไปต่อยอดเป็น AI Chatbot เพื่อใช้ในการตอบคำถามประชาชนได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว
ประโยชน์ของการนำ AI มาใช้งานกับหน่วยงานภาครัฐ
การนำ AI เข้ามาใช้งานกับขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีประโยชน์ในหลากหลายมิติ ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
การนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภาครัฐนั้นแน่นอนว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับขั้นตอนการทำงานได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก AI นั้นสามารถจัดการงานบางอย่างที่ต้องทำได้แบบซ้ำๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องมีการหยุดพัก รวมทั้งยังสามารถรองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มคน หรืออาจจะเพิ่มในจำนวนที่ไม่มาก เพื่อให้คนมาตรวจสอบข้อมูลที่ AI ดึงมาได้อีกครั้ง จึงทำให้ขั้นตอนการให้บริการประชาชนบางอย่างสามารถทำได้แบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การนำ AI Chatbot มาใช้ในการให้ข้อมูลกับประชาชน การนำระบบ e-KYC มาใช้ในการยืนยันตัวตน เป็นต้น
2. ประหยัดค่าใช้จ่าย
เนื่องจาก AI นั้นสามารถรองรับจำนวนธุรกรรมที่มีจำนวนมากได้ ทำให้ขั้นตอนบางอย่างที่ต้องมีการใช้เจ้าหน้าที่มากขึ้น อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเจ้าหน้าที่ที่มากเท่าเดิม เนื่องจาก AI ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระงานบางอย่าง เช่น การให้ข้อมูลเบื้องต้นกับประชาชนด้วย AI Chatbot หรือการนำระบบ AI-OCR มาใช้ในการดึงข้อมูลจากเอกสารได้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก
3. ยกระดับการให้บริการประชาชน
แน่นอนว่าการนำ AI เข้ามาใช้งานกับหน่วยงานภาครัฐนั้นจะช่วยยกระดับการให้บริการประชาชนได้เป็นอย่างดีในยุคที่ประชาชนต้องการความสะดวก และรวดเร็วในการให้บริการ ด้วยบริการที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง (Self service) เช่น การยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ต่างๆ จากภาครัฐ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
4. พัฒนาบริการใหม่ๆ
นอกจากนั้น AI ยังเข้ามาช่วยพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี เช่น ระบบการยืนยันตัวตนนักท่องเที่ยวขาออกแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ขั้นตอนการเดินทางออกนอกประเทศเป็นอย่างรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น หรือการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ความท้าทายในการนำ AI มาใช้งานกับหน่วยงานภาครัฐ
ในขณะเดียวกันการนำ AI มาใช้กับหน่วยงานภาครัฐนั้นก็อาจจะยังมีความท้าทายบางอย่างอยู่ เนื่องจากการนำ AI มาใช้งานภายในหน่วยงานต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน
- การเตรียมพร้อมด้านข้อมูล : เนื่องจาก AI จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นเริ่มต้นจากการมีข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมที่ทำให้สามารถนำไปใช้เทรนโมเดล AI เพื่อให้ AI ใช้ในการประมวลผล วิเคราะห์ และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ต้องการต่อไปได้
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน : หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้รองรับการใช้งานเทคโนโลยี AI ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้อมูลที่ต้องใช้ในการเทรน AI ระบบ Server รวมถึงเรื่องการเชื่อมต่อระบบต่างๆ
- การพัฒนาทรัพยากรบุคคล : หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการฝึกอบรม และพัฒนาทักษะทางด้าน AI ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับระบบ AI ได้เป็นอย่างดี และทำให้การนำระบบ AI เข้ามาใช้งานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์ : จำเป็นต้องมีระบบป้องกัน และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เป็นไปตามข้อบังคับต่างๆ เนื่องจากการนำ AI มาใช้งานนั้นเกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในการเข้ามาใช้งานระบบของหน่วยงานภาครัฐ
ต้องการนำ AI มาใช้งานกับหน่วยงานภาครัฐ
AI ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยกระดับขั้นตอนการทำงาน และยกระดับชีวิตของประชาชนให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานทำได้แบบอัตโนมัติได้มากยิ่งขึ้น
หากคุณกำลังมองหาโซลูชัน AI สำหรับหน่วยงานภาครัฐมาใช้งานเพื่อยกระดับขั้นตอนการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญของเราผู้เชี่ยวชาญของเรายินดีให้คำปรึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การออกแบบขั้นตอนการทำงาน จนถึงการนำโซลูชัน AI ไปใช้งานให้ประสบผลสำเร็จ ติดต่อเพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่นี่
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อัจฉริยะ พร้อมช่วยขับเคลื่อนการทำงานของธุรกิจ มีประสบการณ์ให้บริการโซลูชัน AI เพื่อองค์กรระดับประเทศมากมาย